ถ้าให้พูดถึงบริษัทเทคในกลุ่ม FANGMAN ก็คงไม่มีใครไม่รู้จักไมโครซอฟท์ แต่กลับกันว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้เป็นบริษัทที่นักลงทุนส่วนมากสนใจ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ค่อนข้างเก่าแก่และอยู่มานาน
เลยทำให้นักลงทุนส่วนมากละเลยการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในช่วง7ปีที่ผ่านมา จนแทบเรียกได้ว่าจากบริษัทที่แทบมองอนาคตไม่ออก กลับกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำแถวหน้า ณ ปัจจุบัน ในหลากหลายอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้มีอะไรหลายๆอย่างที่น่าสนใจ ที่วันนี้ผมจะมาเล่าให้เพื่อนๆฟัง
ไมโครซอฟท์ถูกก่อตั้งขึ้นในปี1975 (ปัจจุบันอายุเกือบๆ47ปี) โดย Bill Gates และ Paul Allen โดยเน้นทำธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ Operating System ซึ่งตัวOSที่ขึ้นชื่อ ณ ตอนนั้นคือ MS-DOS และตามมาด้วย Windows ที่เราคุ้นเคยกันดี
ไมโครซอฟท์มีสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Seattle ซึ่งเป็นเมืองเดียวกันกับที่สำนักงานใหญ่ Amazon ตั้งอยู่ โดยไมโครซอฟท์มีออฟฟิศกระจายอยู่ทั่วโลกทั้งหมด 177แห่ง ใน 96ประเทศ
ทุกคนจะรู้จัก Founder & CEO ของไมโครซอฟท์เป็นอย่างดี เขาคนนั้นก็คือ Bill Gates นั่นเอง ที่เป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลก โดยปัจจุบันบิลเกตส์ไม่ได้เข้ามาบริหารไมโครซอฟท์แล้ว แต่ไปโฟกัสในงานมูลนิธิของเขาเอง
ส่วน CEO คนถัดมาก็คือ Steve Ballmer ที่ดำรงค์ตำแหน่งระหว่างปี 2000-2014 ก่อนที่ Satya Nadella จะมารับช่วงต่อ จนถึง ณ ปัจจุบัน โดยตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาไมโครซอฟท์มี CEO ทั้งหมด3คนเท่านั้นเอง
Satya Nadella ต้องถือว่าเป็นคนที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมบริษัทจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ว่าได้ จากบริษัทที่เกือบจะถูก disrupt และถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปเรื่อยๆ กลับทำมาให้ไมโครซอฟท์แข็งแกร่งและกลับมาเป็นผู้นำได้อีกครั้ง
โดยจุดที่เป็นผลงานโดดเด่นของ Satya ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กร ที่เน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดเวลา และ การมี growth mindset เพื่อพัฒนาตัวเองและไม่หยุดอยู่กับที่ กล้าที่จะเสี่ยงและลองทำอะไรใหม่ๆ
“I realized that growth mindset applies very much to individuals like me, and companies like ours. Let’s not be know-it-alls, let’s be learn-it-alls.” Satya Nadella
ช่วงที่ Satya เข้ารับตำแหน่งราคาหุ้นMSFT ณ ตอนนั้น sideway มาระยะเวลานานอยู่ที่ประมาณ $35-$40 เท่านั้น ก่อนที่ราคาจะโตแบบก้าวกระโดดแตะ $300+ ณ ปัจจุบัน
ถ้าเราย้อนกลับไปดูอดีตของไมโครซอฟท์ เราจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างมากมาย ย้อนกลับไปไมโครซอฟท์เปรียบเสมือนเสื้อนอนกิน โดยครองส่วนแบ่งตลาดOSจากผลิตภัณฑ์ Windows และ ซอฟต์แวร์การทำงานร่วมกันอย่าง Microsoft Office ที่เราคุ้นชินเป็นอย่างดี มาอย่างยาวนาน
โดยไมโครซอฟท์ position ตัวเองเป็นระบบปิด ไม่ว่าจะระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ จะจำเป็นต้องพัฒนาอยู่ใน ecosystem ของไมโครซอฟท์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น Windows Server, SQL Server, หรือ ภาษา .NET เป็นต้น ทำให้ ไมโครซอฟท์ไม่สนใจว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางไหนและเมินผู้ท้าชิงหน้าใหม่
นี่เลยทำให้ไมโครซอฟท์เริ่มถูกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในหลายๆผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองครองอยู่โดยผู้ท้าชิงหน้าใหม่ ก็อย่างเช่น ระบบปฏิบัติการOSแบบ open source เช่น Linux เป็นต้น บวกกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นบริษัทที่ไม่ได้มี innovation อะไรใหม่ๆออกมาเลย
จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ Satya เข้ามารับตำแหน่งแล้วพลิกโฉมบริษัท, ภาพลักษณ์, business model, และวัฒนธรรมขององค์กรไปอย่างสิ้นเชิง อาทิเช่น การเป็นบริษัททีมีส่วนร่วมใน open source community มากยิ่งขึ้น และ การเปลี่ยนรูปแบบการขาย license จากที่ต้องซื้อขาด เปลี่ยนเป็นโมเดลแบบ cloud subscription+SaaS ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ นี่เลยทำให้ ไมโครซอฟท์มีเครื่องจักรผลิตเงินในรูปแบบ recuring revenue อย่างต่อเนื่อง
Microsoft Azure ถือเป็นหัวใจหลักของไมโครซอฟท์ทุกวันนี้ในตลาด public cloud computing เป็นรองแค่ Amazon Web Services (AWS) โดย Azure ยังมีการเติบโตสูงถึง 50% YoY เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าฐานจะใหญ่มากแล้วก็ตาม
และนี่เรายังไม่ได้พูดถึงโอกาสในการเติบโตจาก s-curve ใหม่ๆต่อจากนี้ อย่างตลาด metaverse หรือ gaming ที่ในช่วงล่าสุด ไมโครซอฟท์มีการทุ่มงบประมาณในการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจส่วนนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำ R&D หรือ การM&Aกับผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรม
อย่างล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ได้มีข่าวใหญ่ว่าไมโครซอฟท์สนใจที่จะเทคบริษัท Activision Blizzard เพื่อมาเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเองในการเป็นหนึ่งในผู้นำในตลาด gaming และ โลกmetaverse ที่จับกระแสเมกะเทรนด์ ณ ปัจจุบัน
โดยการเทค Activision Blizzard มีมูลค่าสูงถึง $75 Billion เลยทีเดียว (ถือว่าสูงมากๆเทียบกับที่ไมโครซอฟท์เคยเทค LinkedIn มาในปี2016ด้วยมูลค่าประมาณ $26 Billion) และจะเป็นการเทคโดยใช้เงินสดทั้งหมด ซึ่งแสดงได้ถึงกระแสเงินสดที่ไมโครซอฟท์สามารถผลิตได้ ซึ่งปัจจุบันไมโครซอฟท์มีเงินสดอยู่ในบริษัทอยู่ประมาณ $135 Billion เลยทีเดียว!!
โมเดลธุรกิจ
โดยในส่วนถัดมาเราจะมาพูดถึงโมเดลธุรกิจของไมโครซอฟท์ที่แบ่งออกเป็นทั้งหมด3หมวดใหญ่ๆ ซึ่งในบทความนี้เราอาจจะไม่สามารถหยิบยกทุกผลิตภัณฑ์ออกมาเล่าให้ฟังได้ เนื่องจากไมโครซอฟต์มีผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างครอบจักรวาลมากๆ โดยเราจะลงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่เชื่อว่าเป็นแกนหลักของธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนตัวรายได้
1) Productivity and Business Processes
ส่วนธุรกิจนี้จะประกอบไปด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ Microsoft Office, Dynamics, และ LinkedIn ซึ่งถ้าให้สรุปง่ายๆก็จะเป็นส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบ และซอฟต์แวร์ในการช่วยให้องค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อยากมีประสิทธิภาพ
Microsoft Office จะรวมตัวที่เป็นออฟไลน์ (perpetual license) แบบซื้อขาด และตัวออนไลน์ Office 365 ที่ทำงานอยู่บนคลาวด์จ่ายเป็นรูปแบบรายเดือน โดย Microsoft Office ครองส่วนแบ่งตลาดในภาคองค์กรอย่างสูง เนื่องจากได้ประโยชน์จากเรื่องของ switching cost และ network effect เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีคนใช้บริการ Office 365 มากกว่า 165 ล้านราย
Microsoft Dynamics จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ในด้านของระบบหลังบ้านภายในองค์กร มีบริการทั้ง ERP และ CRM ที่แบ่งออกเป็นหลายๆ modules ตามแต่ละส่วนของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้ตามความต้องการด้วยความยืดหยุ่น โดยมีบริการทั้งรูปแบบ on-premises และ on-cloud
2) Intelligent Cloud
ในเซ็กเมนต์นี้จะประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้สำหรับองค์กรใช้บริการคลาวด์ ตัวอย่างเช่น Windows Server, SQL Database Management System, Azure, Enterprise Services, Visual Studio, และ GitHub
Windows Server ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นผู้ชนะในตลาดสถาปัตยกรรม client-server ต่อจากยุค mainframe ถึงแม้ปัจจุบันจะมี Linux จะเข้ามาท้าชิง แต่องค์กรขนาดใหญ่ส่วนมากก็ยังใช้ Windows Server เป็นระบบเซิฟเวอร์หลังบ้านอยู่ดี และเป็นการยากที่จะเปลี่ยน เนื่องจาก Windows Server เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของระบบไอทีเลยก็ว่าได้
SQL Database Management System ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งระบบฐานข้อมูล ที่ไมโครซอฟท์ได้พัฒนามาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบัน SQL Database เป็นฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลแบบ relational เปรียบเสมือนจัดเก็บข้อมูลในตาราง Excel นั่นเอง
Microsoft Azure ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้ในเซ็กเมนต์นี้ อย่างไตรมาสล่าสุดก็มีการเติบโตสูงถึง 46% YoY ถึงแม้ว่าฐานจะใหญ่แล้วก็ตาม Azure มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นรองแค่ Amazon Web Service ณ ปัจจุบัน
Azure มีบริการทั้งหมดสามรูปแบบ IaaS (Infrastructure-as-a-Service), PaaS (Platform-as-a-Service), และ SaaS (Software-as-a-Service) โดยปัจจุบันมีบริการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 200 services อาทิเช่น Azure Virtual Machine, Azure SQL Database, Azure Kubernetes Service, Azure IoT, Azure Machine Learning, Azure Digital Twins, หรือ Azure DevOps เป็นต้น
Azure ถือเป็นธุรกิจหลักที่ทำให้ไมโครซอฟท์กลับมายิ่งใหญ่และไม่ตกรถในตลาด public cloud ที่พึ่งเริ่มให้บริการมาแค่เพียง 13ปีเท่านั้น และเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ Satya ได้ให้ความสำคัญกับ Azure ตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา
3) More Personal Computing
ในเซ็กเมนต์สุดท้าย จะประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่ส่วนมาก จะเป็นการใช้งานเป็นการส่วนตัวมากกว่าในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในหมวดนี้ ก็ได้แก่ Windows, Gaming, Search, และ Surface เป็นต้น
Microsoft Windows ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่มีการพัฒนามาอย่างยาวนาน เป็นผู้นำในตลาดระบบปฏิบัติการOSสำหรับ PC มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกมากกว่า 83% แสดงถึงความแข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ switching cost หรือ network effect จากสถิติปัจจุบันมีเครื่องที่มีการลง Windows มากกว่า1,000ล้านเครื่องเลยทีเดียว
เพราะยิ่งมีคนใช้ระบบปฏิบัติการWindowsมากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งดึงดูดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบน Windows มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง แสดงถึง flywheel ที่มีความแข็งแกร่งเป็นอย่างดี
Microsoft Gaming จะประกอบไปด้วยธุรกิจ Xbox, Xbox Live, Xbox Game Pass subscription, การผลิตเกมส์, และ ส่วนโฆษณา
โดยไมโครซอฟท์พยายามสร้าง gaming platform เป็นของตัวเอง ตั้งแต่ส่วน hardware (Xbox console) และ software (พัฒนาเกมต่างๆออกมาเอง และการเข้าไปเทค gaming studio ชื่อดังต่างๆ เรื่อยมา) จนปัจจุบันมีคนเล่นเกมร่วมกันบน Xbox Live ต่อเดือนมากกว่า56ล้านผู้เล่น
และผลิตภัณฑ์อื่นๆอย่างเช่น Surface ที่เป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่ไมโครซอฟท์พยายามพัฒนา laptop ออกสู่ท้องตลาด โดยSurface จะวางตัวเองอยู่ในตลาดบน, HoloLens แว่นตา AR/VR, และ Microsoft Bing ที่เป็น search engine
รายได้
ไมโครซอฟท์ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีรายได้ที่ค่อนข้างเสถียรและเติบโตอย่างสม่ำเสมอมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากปัจจุบันรายได้ส่วนมากได้รับรู้มาในรูปแบบrecurring revenue เลยทำให้ฐานของรายได้ในปีนี้ จะเป็นฐานของปีถัดไป
รายได้และกำไร3ปีย้อนหลังของไมโครซอฟท์ (Fiscal Month เริ่มเดือน July)
ปี 2019 มีรายได้ $125,843 ล้าน กำไร $39,240 ล้าน
ปี 2020 มีรายได้ $143,015 ล้าน กำไร $44,281 ล้าน
ปี 2021 มีรายได้ $168,088 ล้าน กำไร $61,271 ล้าน
6เดือนใน ปี 2022 มีรายได้ $97,045 ล้าน กำไร $39,270 ล้าน
โดยไตรมาสล่าสุด FY2022 Q2 ที่พึ่งประกาศผลประกอบการออกมา ตัวธุรกิจในเกือบทุกเซกเมนท์ก็มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดเลย
โดยตัวเลขที่นักลงทุนมักจะจับตามองก็คือ อัตราการเติบโตของ Microsoft Azure ซึ่งไตรมาสล่าสุด ก็ยังสามารถเติบโตได้สูงถึง 46% YoY
ส่วน Microsoft Teams แอพพลิเคชั่นดาวรุ่งสำหรับทำงานร่วมกัน ที่เป็นนิยมในหมู่องค์กร ภายในระยะเวลาเพียงแค่4ปี มีผู้ใช้งานMAUมากกว่า 270 ล้านคนไปแล้ว
ความเสี่ยง
ถึงแม้ว่าไมโครซอฟท์จะถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่แข็งแกร่งที่สุด สามารถผ่านมาได้หลายทศวรรษ แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามในแง่ของเรื่องความเสี่ยง เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยบางทีผู้เล่นเก่าก็อาจจะถูก disrupt ได้เช่นกัน
การเปลี่ยนผ่านจากการขายไลเซนซิ่งแบบ on-premises มาเป็นฝั่ง cloud มากยิ่งขึ้น เพราะในระยะยาวธุรกิจ on-premises จะเป็นเทรนขาลง เลยทำให้ไมโครซอฟท์จำเป็นจะต้องเอารายได้ส่วน cloud มาทดแทน เพื่อทำให้รายได้รวมยังมีการเติบโตต่อไป
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะทำให้ไมโครซอฟท์ไม่สามารถแข่งกับผู้เล่นรายใหม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันไมโครซอฟท์แทบจะเล่นในทุกตลาดเลย เลยอาจจะทำให้ไม่สามารถโฟกัสได้ดีเท่าที่ควร
เนื่องจากปัจจุบันหลายๆผลิตภัณฑ์ถูกพัฒนาขึ้นอยู่บนคลาวด์ ซึ่งถ้ามีการเกิดการรั่วไหลของข้อมูล หรือการถูกโจมตีในส่วนของ data centers ก็อาจจะเป็นหายนะได้
วิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงที่จะนำพาบริษัทก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ในทุกยุคทุกสมัย โดยไมโครซอฟท์ถือว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่อาจจะมีการปรับตัวที่ล่าช้าก็อาจเป็นไปได้
การเข้าไปเทคบริษัทใหม่ๆด้วยมูลค่าที่สูง แล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นตลาดที่ตัวเองไม่มีความถนัด อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีกับเคสของ Nokia
กฎหมายจากการผูกขาด anti-trust อย่างที่ไมโครซอฟท์เคยโดนมาในอดีตกับ internet explorer
การแข่งขัน
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันดุเดือดมากที่สุดในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ว่ารายใหญ่จะเป็นผู้ได้เปรียบเสมอไป เพราะเทคโนโลยี่ที่ล้ำสมัยในปัจจุบัน ในปีถัดไปก็อาจจะถือว่าเป็นเทคโนโลยีล้าหลังแล้วก็ได้
เราเลยจะเห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีหรือบริษัทSaaS จะมีการทุ่มทุนในการทำ R&D เพื่อรักษา competitive advantage ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ตัวไมโครซอฟท์เองก็ต้องถือว่ามีผู้แข่งขันหลายราย เนื่องจากตัวเองดำเนินธุรกิจในหลากหลายหมวดและหลากหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น
Hyperscale Public Cloud (Microsoft Azure): Amazon Web Services, Google Cloud Platform, Alibaba Cloud, หรือ Tencent Cloud เป็นต้น
Office Tools (Office 365): Google Workspace, หรือ Box เป็นต้น
Remote Work Tools (Microsoft Teams): Zoom, Slack, หรือ Google Meet เป็นต้น
ERP/CRM (Microsoft Dynamics): Salesforce, SAP, หรือ Oracle เป็นต้น
OS (Microsoft Windows): Linux, Redhat, หรือ Ubuntu เป็นต้น
Cybersecurity (Microsoft Defender): CrowdStrike, SentinelOne, Okta, หรือ Zscaler เป็นต้น
Gaming (Xbox): Sony Playstation, หรือ Nintendo เป็นต้น
แต่ถ้าจะถามว่าไมโครซอฟท์มีจุดเด่นหรือจุดแข็งอะไรบ้างเทียบกับผู้เล่นอื่นในหมวดหมู่อุตสาหกรรมเดียวกัน ผมขอแนะนำให้เราลองเช็คจาก Gartner Magic Quadrant ที่จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับทางด้านโซลูชั่นไอทีอันดับต้นๆของโลก
ยกตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรม Cybersecurity ไมโครซอฟท์เองก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นชั้นนำที่ตกอยู่ใน Leader Quadrant สูงถึง5หมวดหมู่เลยทีเดียว ประกอบด้วย Cloud Access Security Broker (CASB), Access Management, Enterprise Information Archiving, Unified Endpoint Management (UEM), และ Endpoint Protection Platforms
โอกาสการเติบโตในอนาคต
ในยุคที่ไม่ว่าองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็กก็มีการปรับตัวเพื่อให้ทันโลกเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ผมเชื่อว่าผู้บริหารทุกคนจำเป็นจะต้องคิดถึงเรื่อง digital transformation ผนวกกับโควิดทำให้เป็นหนึ่งในตัวเร่ง
อย่างที่ Satya เคยได้กล่าวไว้ตอนช่วงต้นของโควิดว่า “We’ve seen two years’ worth of digital transformation in two months.” สรุปสั้นๆก็คือ “เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล จากที่ต้องใช้ระยะเวลาสองปี เหลือแค่เพียงสองเดือน”
ทำให้บริษัทอย่างไมโครซอฟต์ที่จะถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ กับความต้องการของลูกค้า และโอกาสในการเติบโตอีกมากมาย
ผมเชื่อว่าไมโครซอฟท์ยังสามารถเติบโตไปได้อีกเป็น10ปี ไม่ว่าจากธุรกิจเดิมที่ดำเนินอยู่ และยังไม่รวมถึง s-curve ใหม่ๆ อย่างโลก metaverse ที่ไมโครซอฟท์เองมีเครื่องไม้เครื่องมือและจิ๊กซอต่างๆ พร้อมกับการก้าวไปสู่หนึ่งในผู้นำในโลกนี้
หรือไม่ว่าอย่างธุรกิจหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ของไมโครซอฟท์ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ Microsoft Azure ก็ยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าอีกมากมาย เนื่องจากมีการคาดการณ์โดยIDC ว่าตลาด Public Cloud จะสามารถเติบโต 28.8% CAGR ถึงปี2025เลยทีเดียว
Morningstar ได้ให้ fair value ไว้ที่ $352 ซึ่งเทียบเท่าอัตราส่วน P/E ของปี 2022 ประมาณ 36 เท่า โดยคาดการว่ารายได้จะสามารถเติบโต 13% CAGR ในอีกห้าปีข้างหน้า
โดยสรุปผมว่าไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านไอทีที่มีความแข็งแกร่งในหลายด้าน มีผู้บริหารที่เก่ง และวิสัยทัศน์ที่ดีในการปรับตัวตลอดเวลา ทำให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหุ้น defensive ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา
Disclaimer: บทความนี้เพื่อให้ไอเดียการลงทุนกับนักลงทุน ไม่ได้เป็นการเชียร์ให้ซื้อหรือขาย นักลงทุนควรจะต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองอีกครั้งครับ
Sources:
Microsoft Investor Relations
Gartner
IDC
Morningstar